Web Analytics Made Easy - Statcounter
Car4Sure - สาส์นจากประธานสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว 16 ก.ค. 2563

ข่าวสารและกิจกรรม

สาส์นจากประธานสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว 16 ก.ค. 2563

2020-07-16
คุณ วิสุทธิ์ เหมพรรณไพเราะ (ประธานสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว)

ในช่วง2วันที่ผ่านมาได้มีโอกาสได้พูดคุยปรึกษาหารือกับผู้บริหารของธนาคารและสินเชื่อรายใหญ่2-3สถาบันเกี่ยวกับภาพรวมของเศรษฐกิจในปี 2563 จากวิกฤตCOVID19 ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในครั้งนี้ต่างจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงปี2540 โดยสิ้นเชิง 

เนื่องจากในปีนี้ภาคธนาคารมีความแข็งแรงมาก มีเงินสดและกองทุนสำรองต่างๆมากมายและมีแผน2,3,4ในการรับมือการคุกคามทางการเงินในรูปแบบต่างๆ ซึ่งต่างจากปี2540ที่ภาคธนาคารมีเงินสำรองน้อยมากและยังไม่มีระบบต่างๆมารองรับภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจถดถอยเหมือนในยุคปัจจุบัน

ในทางตรงกันข้าม ภาคธุรกิจและภาคประชาชนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการขาดสภาพคล่องและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในวิกฤตในครั้งนี้ ปัจจุบันหนี้สินภาคครัวเรือนในไตรมาสที่1ของปี2563มีสัดส่วนเท่ากับ80.1%ของGDP และมีการคาดการณ์ว่าในปลายปี2563นี้หนี้สินภาคครัวเรือนจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น90%ของGDP เนื่องจากGDPของประเทศในปีนี้จะมีการเติบโตที่ติดลบถึง10.3% จากการคาดการณ์ล่าสุดของสถาบันวิจัยกรุงศรีฯ นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าเป็นห่วงอีก

 

หนึ่งปัจจัยคืออัตราการว่างงานในปีนี้ อาจจะมีคนตกงานจากการปรับตัวของภาคธุรกิจและสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจถึง5ล้านคน จากที่มีคนว่างงานที่3-3.5ล้านคนในปัจจุบัน

ในมุมมองของผู้บริหารของธนาคารท่านหนึ่งมองว่า ภาคธุรกิจต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงจากการประกอบธุรกิจในรูปแบบเดิมๆ COVID19คือตัวเร่งปฏิกิริยาชั้นดีที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วขึ้น องค์กรและธุรกิจไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ที่จะรอดจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ต้องสามารถปรับเปลี่ยนตนเองให้เร็วและให้ทันต่อกระแสของการเปลี่ยนแปลง สังเกตได้ว่าหลายๆองค์กร โดยเฉพาะองค์กรที่มีขนาดใหญ่ต้องปรับตัวให้องค์กรของตนเองมีความกระชับและรวดเร็วขึ้น มีการลดขนาดขององค์กรและมีการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นขององค์กรในรูปแบบต่างๆโดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย เช่นการ WFH เป็นต้น 

 

ภาคส่วนที่จะประสบปัญหาจริงๆคงหนีไม่พ้น ภาคธุรกิจSMEsที่ยังปรับตัวได้ช้าและภาคประชาชนที่ขาด skill ในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ

จะเห็นได้จากข่าวเศรษฐกิจหลายๆข่าวในช่วงนี้ที่ได้มีการเผยแพร่เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนขององค์กรต่างๆที่มีการลดขนาดองค์กรลงหรือล้มหายตายจากไปอย่างกระทันหันจากพิษเศรษฐกิจในครั้งนี้ เชื่อว่าในปีนี้และในปีถัดๆไป เรายังคงต้องพบกับข่าวอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ เนื่องจากการปรับตัวขององค์กรเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในยุคปัจจุบัน แน่นอนว่าทุกๆ องค์กรต้องการจะเก็บskilled laborไว้ในองค์กร เพื่อต่อยอดในการแข่งขันด้านธุรกิจ ส่วนunskilled laborที่เป็นคนส่วนใหญ่ขององค์กร ก็จะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ "คนเหล่านี้จะต้องทำตัวอย่างไร?" 

นี่คือคำถามใหญ่ที่ภาครัฐจะต้องหาคำตอบในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ หากคนเหล่านี้ตกงานและไม่มีรายได้ ปัญหาต่างๆด้านสังคมก็จะตามมา ผมคิดว่ารัฐควรมีมาตรการที่ชัดเจนในการรองรับปัญหานี้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว งบประมาณแผ่นดินก้อนใหญ่ควรที่จะใช้ในการแก้ปัญหาในการพัฒนาunskilled laborเหล่านี้โดยหน่วยงานที่จะต้องถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ

 

นี่คือยุทธศาสตร์ชาติที่ภาครัฐควรต้องเตรียมไว้ เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่จะรวดเร็วและรุนแรงอย่างคาดไม่ถึงประเทศไทยก้าวข้ามจากยุค1.0เป็น2.0มานานแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศคือประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่กับเศรษฐกิจ 2.0 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศว่าประเทศไทยจะก้าวไปสู่ "Thailand4.0" ในเชิงสัญลักษณ์ แต่ในภาคปฏิบัติ เรายังคงต้องยอมรับว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงประกอบสัมมาอาชีพในรูปแบบThailand2.0อยู่จวบจนปัจจุบัน แน่นอนว่า Vision ของประเทศย่อมเป็นเรื่องสำคัญ แต่เหนือสิ่งอื่นใด Implementation เป็นสิ่งที่สำคัญกว่าเสมอ 

อยากจะฝากผู้นำของประเทศให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณของรัฐในครั้งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของประเทศ การพัฒนาบุคคลากรของประเทศให้เป็นskilled laborย่อมทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน การประคองให้SMEsและunskilled laborมีความสามารถในการดำรงชีวิตอยู่ได้ในวิกฤตครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายและสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

 

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านร่วมกันฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันครับ

 

วิสุทธิ์ เหมพรรณไพเราะ

ประธานสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว